พาไปดูวาฬบรูด้า ที่บางตะบูน

ส่งไลน์
สะพานปากอ่าว บางตะบูน บ้านแหลม เพชรบุรี

ภาพโดย สายชล @ Pantip.com

เรือลำเล็กๆ สีส้มแจ๋ดเริ่มเดินเครื่องป๊อกแป๊ก เคลื่อนตัวออกจากท่าเรือปากแม่น้ำบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม เพชรบุรี มุ่งหน้าสู่ทะเลอ่าวไทยตอนบน ที่เรียกขานกันจนติดปากว่า “อ่าวไทยรูปตัว ก” เพื่อพาเราไปชม “วาฬบรูด้า” สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใหญ่ที่สุดของไทยที่ตามการศึกษาของ “ศูนย์วิจัยทรัพยากรชายฝั่งทะเล สมุทรสาคร” รายงานว่า มีวาฬบรูด้าเข้ามาวนเวียนหากินอยู่ในบริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก นี้ ร่วม 40 ตัว

เรือประมงหาปลา บางตะบูน บ้านแหลม เพชรบุรี

ภาพโดย Polpich Komson @ AeyKomson.com

เช้าวันนั้น บรรยากาศช่างน่าสดใส แสงแดดแผดจ้า ลมทะเลพัดมาเอื่อยๆ มีริ้วคลื่นเล็กๆ วิ่งไล่กันอยู่ใต้กราบเรือข้างล่องน้ำที่เรือแล่นไป มีนกน้ำนานาพันธุ์เกาะอยู่บนเสาไม้ที่ปักไว้เป็นแนว เพื่อแสดงอาณาเขตของผู้ได้รับอนุญาตจากกรมประมง ให้มาทำกินเลี้ยงหอยแมลงภู่ เลี้ยงปลาทะเล หรือทำโพงพางจับปลา มีบ้านพักกลางทะเลที่เรียกว่า “กระเตง” ปลูกอยู่ในเขตรั้วเหล่านั้น ตลอดเส้นทางที่เราผ่านไป เห็นแล้วก็อยากจะขึ้นไปนอนเล่นสงบสติอารมณ์หลีกลี้จากเหตุการณ์บ้านเมืองสักคืนสองคืน

กระเตงกลางทะเล บางตะบูน บ้านแหลม เพชรบุรี

ภาพโดย สายชล @ Pantip.com

สมาชิกที่ลงเรือไปด้วยกันร่วมสิบคนพากันนั่งชมนกชมไม้สองฝั่งน้ำกันอย่างเพลิดเพลิน พอเรือแล่นพ้นปากแม่น้ำบางตะบูน เข้าสู่ทะเลอ่าวไทย เสาไม้ โพงพาง และกระเตงก็เริ่มหายไปจากสายตา น้ำเริ่มขุ่นข้นเป็นสีเขียวด้วยแพลงก์ตอน ปลากกะตักตัวเล็กๆ ที่เป็นอาหารโปรดของวาฬบรูด้ากระโดดหยอยๆ ขึ้นมาเหนือน้ำ เหมือนว่ายท้าทายแข่งกับความเร็วกับเรือเรา บางตัวโชคร้ายกระโดดขึ้นมานอนแอ้งแม้งบนพื้นเรือ กัปตันบอกว่า กว่าจะเล่นเรือกลับถึงบ้าน เขาจะได้ปลากะตักแดดเดียวไปทอดกินเป็นกับข้าวมื้อเย็นจานใหญ่

เกือบเที่ยง เรือวิ่งออกไปจนไกลจนเลยดอนหอยหลอด เมืองสมุทรสงคราม เราเริ่มสังเกตเห็นนกนางนวลสีขาวเริ่มรวมกลุ่มบินวนเวียนอยู่เหนือท้องฟ้า ไม่ไกลจากหน้าวัดกระซ้าขาว ที่ตั้งอยู่ชายฝั่งเมืองสมุทรสาคร ซึ่งแสดงว่าอาจจะมีวาฬบรูด้าว่ายหากินอยู่แถวๆ นั้น ทั้งนี้เป็นเพราะเจ้านกนางนวลจอมขี้โกง ชอบพุ่งลงไปจิกเอาปลากะตักจากปากของวาฬบรูด้าไปกิน

ดูวาฬบรูด้า บางตะบูน บ้านแหลม เพชรบุรี

ภาพโดย สายชล @ Pantip.com

“นู่นๆ…วาฬขึ้นแล้ว…” เสียงพวกเราคนหนึ่งตะโกนบอกมาอย่างตื่นเต้น พวกเรารีบคว้ากล้องแล้วลุกไปกระจายหามุมดีๆ อยู่ตามหัวเรือและข้างเรือที่เห็นว่าวาฬบรูด้าโผล่หัวอยู่ ซึ่งดูเหมือนกรวยสีดำที่โผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ แล้วก็ผลุบหายไป กัปตันพาเรือแล่นเข้าไปใกล้บริเวณที่เห็นวาฬโผล่ขึ้นมา แล้วก็ปล่อยเกียร์ว่างเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายกับวาฬ เราคอยอยู่เงียบๆ อย่างใจเย็น ไม่นานนักวาฬก็โผล่ขึ้นมาให้เราได้เห็น ท่าที่อ้าปากหากินแล้วมีนกนางนวลบินอยู่รอบๆ นั้นช่างน่าดูเหลือเกิน พอกินเสร็จวาฬก็มุดลงดำน้ำ แล้วพ่นน้ำผ่านรูหายใจเป็นฝอยๆ เหมือนน้ำพุ พร้อมกับมีกลิ่นปลาเน่าโชยตามมากลิ่นฉุยๆ เหมือนวาฬผายลมให้เราดม

ดูวาฬบรูด้า บางตะบูน บ้านแหลม เพชรบุรี

ภาพโดย สายชล @ Pantip.com

วันนั้น…เราได้ชื่นชมกับความน่ารักน่าเอ็นดูของวาฬบรูด้าร่วมสิบตัว แต่ก็ยังรู้สึกไม่จุใจ จนต้องหาเวลาหวนกลับไปชมวาฬบรูด้ากันอีกหลายครั้ง และทุกครั้งวาฬบรูด้านำความสุขมาให้กับเราอย่างล้นเหลือ และยิ่งทำให้เราหลงรักวาฬบรูด้าจนหมดจิตหมดใจทวีขึ้นทุกทีๆ

ทำความรู้จัก…วาฬบรูด้า

วาฬบรูด้า

ภาพโดย cetus.ucsd.edu/voicesinthesea_org

วาฬบรูด้า (Bryde’s Whales) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ลำตัวสีเทาดำ ท้องสีอ่อนหรือสีชมพู รูปร่างค่อนข้างเพรียว มีรูหายใจ 2 รู มีร่องใต้คางหลายเส้น มีซี่กรองอาหาร ไม่มีฟัน ครีบหลังค่อนข้างเล็ก โตเต็มที่ยาว 14-15 เมตร ส่วนหัวมีแนวสันนูน 3 สัน ออกลูกเป็นตัว ตั้งท้องราว 10-12 เดือน อายุยืนยาวได้ถึง 50 ปี วาฬแต่ละตัวมีลักษณะเฉพาะตัว และทางเจ้าหน้าที่ได้ตั้งชื่อแต่ละตัวไว้ วาฬตัวเมีย จะเรียกว่า “แม่” เช่น แม่สาคร แม่สดใส แม่สีคราม ถ้าไม่รู้ว่าเพศอะไร ก็จะเรียกว่า “เจ้า” เช่น เจ้าพาฝัน เจ้าบันเทิง เจ้าบางแสน เป็นต้น วาฬบรูด้าเป้นสัตว์หายากที่ได้รับการอนุรักษ์คุ้มครองจากทางการไทย

วีดีโอเกี่ยวกับ…การไป ดูวาฬบรูด้า

แผนที่การเดินทางสู่…บางตะบูน

ส่งไลน์