แหลมผักเบี้ย เดินชมป่าชายเลนผืนใหญ่ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

Google Plus
Line

< เรื่องโดย… ณัฐฐิฐา เอกธนพิพัฒน์ >

“…ปัญหาสำคัญ คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องน้ำเสียกับขยะ ได้ศึกษามาแล้วเหมือนกัน ทำไม่ยากนัก ในทางเทคโนโลยีทำได้ แล้วในเมืองไทยเองก็ทำได้…
…โครงการที่จะทำนี้ไม่ยากนัก คือว่า ก็มาเอาสิ่งที่เป็นพิษออก พวกโลหะหนักต่างๆเอาออก ซึ่งมีวิธีทำ ต่อจากนั้นก็มาฟอกใส่อากาศ บางทีก็อาจไม่ต้องใส่อากาศ แล้วก็มาเฉลี่ยใส่ในบึง หรือเอาน้ำไปใส่ในทุ่งหญ้าแล้วก็เปลี่ยนสภาพของทุ่งหญ้าเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกพืช ปลูกต้นไม้…
…แล้วก็ต้องทำการเรียกว่า การกรองน้ำ ให้ทำน้ำนั้นไม่ให้โสโครก แล้วก็ปล่อยน้ำลงมาที่เป็นที่ทำการเพาะปลูก  หรือทำทุ่งหญ้า หลังจากนั้นน้ำที่เหลือก็ลงทะเล โดยที่ไม่ทำให้น้ำนั้นเสีย…”

– กระแสพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2533

ลิงก์ผู้สนับสนุน
ป่าชายเลน แหลมผักเบี้ย เพชรบุรี

ภาพโดย Parmpat Nuchsai

จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในเรื่องของสิ่งแวดล้อมในอดีตนั้น ใครจะรู้ว่าจากพระราชดำรัสนั้นจะกลายมาเป็นโครงการศึกษาวิจัยหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและขยะในชุมชน ที่แสนจะประหยัด สะดวก ทำได้ง่าย และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นๆในประเทศไทยได้อย่างกว้างขวาง ปัญหาขยะและน้ำเสียในชุมชนและในเมืองขนาดใหญ่นั้นสร้างความเดือดร้อนอย่างมหาศาลต่อสภาพแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว และความเดือดร้อนตรงนี้ที่จะส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของประชาชน

“ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ” ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี คือ สถานที่ที่เราได้มาเยือนกันในวันนี้ค่ะ เสน่ห์ของสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การศึกษาวิจัยพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่ยังมีเส้นทางเพื่อศึกษาในเรื่องของระบบนิเวศป่าชายเลนที่มีทางเดินลัดเลาะเข้าไปยังป่าชายเลน เพื่อให้ได้รับบรรยากาศและเข้าใจถึงระบบนิเวศป่าชายเลนอย่างแท้จริงอีกด้วยค่ะ อีกหนึ่งไฮไลท์ของการมาเยือนที่นี่ก็คือการได้เห็นผักเบี้ยทะเลของจริงที่ขึ้นอยู่บริเวณป่าชายเลนรอบนอกค่ะ

ป่าชายเลน แหลมผักเบี้ย เพชรบุรี

ภาพโดย Parmpat Nuchsai

ป่าชายเลน คือ สถานที่บำบัดน้ำเสียที่ดีที่สุด ก่อนที่น้ำนั้นจะไหลลงสู่ทะเลที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ได้มีพระราชดำริขึ้นเพื่อประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง ในอดีตนั้นที่นี่พบกับปัญหาน้ำเสียถึงขนาดน้ำที่จะนำมาใช้ในการอุปโภค บริโภคไม่สามารถนำมาใช้ได้เลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการดังกล่าวเพื่อบำบัดน้ำเสีย โดยให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ มีด้วยกัน 4 ระบบ ดังนี้

ระบบแรก คือ บ่อบำบัดน้ำเสีย เวลาที่มีน้ำเสียไหลมาแต่ละบ่อก็จะไหลล้นผ่านอาคารระบายน้ำด้านบน และเชื่อมต่อกันทางตอนล่างของบ่อถัดไปเป็นลำดับก่อนที่จะนำคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

ระบบที่สอง คือ ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย ซึ่งให้พืชช่วยบำบัดนำเสียโดยการให้น้ำเสียไหลผ่านแปลงหญ้าและหญ้าที่ดีที่สุดก็คือ หญ้าธูปฤาษี ที่ช่วยปล่อยออกซิเจนจากรากลงไปเติมน้ำให้กลายเป็นน้ำดีได้ และเมื่อครบ 90 วัน ก็จะตัดพืชออก พอตัดแล้วก็นำไปให้กลุ่มแม่บ้านทำเครื่องสานเพื่อเพิ่มประโยชน์และสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านได้

ระบบที่สาม คือ ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม กลไกก็จะคล้ายกับระบบพืชและหญ้ากรอง แต่จะแตกต่างกันด้วยวิธีการ

ระบบที่สี่ คือ ระบบแปลงพืชป่าชายเลน โดยการให้ธรรมชาติบำบัดด้วยตัวของมันเองตามระยะเวลาการขึ้นลงของน้ำทะเลในแต่ละวัน อาศัยระบบรากของพืชป่าชายเลนช่วยปล่อยก๊าซออกซิเจนเติมให้กับน้ำเสียและจุลินทรีย์ในดินและชาวบ้านจะไม่เข้ามายุ่ง เพราะเป็นพื้นที่ของงานวิจัยและเมื่อมีโครงการฯ เข้ามาชาวบ้านก็จะเริ่มอนุรักษ์โดยการไม่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ หรือว่าถ้าเขาจะปล่อยก็จะใช้ผ่านถังดักไขมัน หากบ้านไหนยังไม่มี ชาวบ้านจะมารับถังดักไขมันที่โครงการฯ ได้

ป่าชายเลน แหลมผักเบี้ย เพชรบุรี

ภาพโดย Parmpat Nuchsai

ในส่วนของเส้นทางศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศป่าชายเลนนั้น มีระยะทางประมาณ 850 เมตร เรียกได้ว่าเดินกันเหนื่อยเลยทีเดียวค่ะ แต่ไม่ต้องกลัวว่าแดดจะร้อนเหงื่อจะท่วมนะคะ เพราะตลอดสองข้างทางเดินนั้นจะเต็มไปด้วยต้นโกงกางและต้นแสมมากมายที่แทบจะแย่งพื้นที่กันเจริญเติบโตสูงท่วมหัวจนโค้งรับกันทั้ง 2 ด้านเสมือนหลังคาซึ่งช่วยกันแดดได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ ปลาตีนตัวโตสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน ไหนจะพวกปูแสม ปูก้ามด้าม กระทั่งนกนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นนกเด้าดิน นกเด้าลม นกยางเปียและยังรวมถึงนกอีกมากมายหลากหลายชนิด จนสถานที่แห่งนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น 1 ใน 10 สถานที่ดูนกที่ดีที่สุดของประเทศไทยค่ะ และความพิเศษของทางเดินศึกษาธรรมชาตินี้นอกจากความสมบูรณ์และสวยงามของป่าชายเลนแล้ว ก็คือ มีแหลมทรายยาวประมาณ 3 กิโลเมตรที่กั้นระหว่างหาดโคลนกับหาดทราย และตรงนี้เองค่ะ คือ ทรายเม็ดแรกของอ่าวไทยตอนบน

หลังจากที่เราเดินชมธรรมชาติกันมาเรื่อยๆ ถ่ายรูปกันจนหนำใจบนเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่ทอดยาว เราจะพบกับหอภูมิทัศนาที่ทำให้เราได้เห็นภูมิทัศน์ทั้งหมดของบริเวณต้นโกงกางและต้นแสม สีเขียวขจีตัดกับสีฟ้าอ่อนๆของท้องฟ้า ลมทะเลพัดเอื่อยๆ เป็นบรรยากาศที่เราจะหาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้วค่ะ ระหว่างที่เราเดินหากได้ลองฟังดีๆแล้ว จะได้ยินเสียงเหมือนคนดีดนิ้วเป็นระยะๆ นั่นคือเสียงของ “กุ้งดีดขัน” เวลาที่มันดีดตัวเพื่อเคลื่อนตัวเองอยู่บริเวณโคลนนั่นเองค่ะ หากมาในช่วงที่ดอกแสมบานด้วยแล้ว เวลาที่เดินผ่านนอกจากจะพบกับความสวยงามของต้นแสม ยังจะได้กลิ่นอันหอมหวานของดอกแสมอีกด้วยค่ะ

บ่อบำบัดน้ำเสีย แหลมผักเบี้ย เพชรบุรี

ภาพโดย Parmpat Nuchsai

การที่จะเข้าไปเยี่ยมชมโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้นไม่ยากเลยค่ะ ไม่ต้องกลัวว่าจะเดินไกลหรือกลัวเดินหลงนะคะ เพราะ สามารถขับรถยนต์ส่วนตัวเพื่อเที่ยวชมบ่อบำบัดน้ำเสียได้ค่ะ แถมยังมีแผนที่บอกแผนผังคร่าวๆของโครงการฯ ไม่ต้องกลัวว่าจะขับเลยหรือขับหลง สะดวกมากๆเลยนะคะหลังจากได้รับความรู้และความสุขมากมายจากการเรียนรู้โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว ก็อย่าลืมแวะอุดหนุนสินค้าของที่ระลึกจากโครงการฯกันนะคะ ไม่ว่าจะเป็นงานสานจากหญ้าธูปฤาษีของกลุ่มแม่บ้าน เสื้อยืด หมวกสาน ผลไม้อบแห้งและโปสการ์ด รวมทั้งสินค้าอื่นๆอีกมากมาย และถ้าหากใครยังไม่รู้ว่าสุดสัปดาห์นี้จะไปเที่ยวที่ไหนจะขึ้นเขาลงห้วย หรือลงทะเลก็เบื่อแล้ว ขอแนะนำโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีแห่งนี้เลยค่ะ

วีดีโอเกี่ยวกับ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม แหลมผักเบี้ย

แผนที่การเดินทางสู่ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย

การเดินทาง: โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางเลียบชายทะเลจากอำเภอบ้านแหลมไปยังหาดเจ้าสำราญ ระยะทางประมาณ 15 กม. ทางเข้าโครงการแหลมผักเบี้ยอยู่ข้างวัดสมุทรโคดม

ติดต่อ-สอบถาม: โทร 032-441-265

ลิงก์ผู้สนับสนุน
Google Plus
Line