กิ่วแม่ปาน ปลายทางหิมาลัยในแดนสยาม

ส่งไลน์

กิ่วแม่ปาน

จุดเด่น

ยอดดอยอินทนนท์ ถือเป็นจุดสูงที่สุดในประเทศไทย จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “หลังคาแห่งดินแดนสยาม” ความอลังการของผืนป่าที่ได้ชื่อว่าอยู่ ณ ปลายสุดแห่งเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเริ่มต้นจากประเทศเนปาล ทำให้เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน อุดมไปด้วยเสน่ห์แห่งป่าดิบเขาระดับสูง ต้นไม้ใหญ่ถูกห่อหุ้มด้วยพืชพรรณเล็กๆ ทั่วทั้งต้น สลับกับทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์ไกลสุดสายตา

สิ่งที่ห้ามพลาดคือ “กุหลาบพันปี” ยืนต้นตระหง่านบริเวณ ผาแง่มน้อย ออกดอกสีแดงช่วงเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม รวมถึง “กวางผา” สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ และ “นกกินปลีหางเขียว” ชนิดย่อย angkanensis ซึ่งเป็นนกประจำถิ่น พบได้เฉพาะที่ยอดดอยอินทนนท์ ถือเป็นแรงดลใจที่ทำให้ผู้มาเยือนต่างหลงใหลในผืนป่าแห่งนี้

กิ่วแม่ปาน

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขาระดับสูง ตั้งอยู่ในเขตแนวเทือกเขาถนนธงชัย บริเวณสันกิ่วเป็นหน้าผาค่อนข้างแคบและลาดชัน มีทุ่งหญ้าปกคลุมทั่วสันเขา โครงสร้างทางธรณีหลักคือหินไนส์และหินแกรนิต

สภาพเส้นทาง

เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน มีลักษณะเป็นวงรอบ ระยะทาง 3 กิโลเมตร แต่มีสถานีศึกษาถึง 21 จุด เริ่มต้นจากป่าดิบเขาในฝั่งด้านทิศตะวันตกไปจนถึงบริเวณสันกิ่ว จากนั้นจะเป็นทางเดินลาดขันลงไปทางทิศใต้ ก่อนวกกลับขึ้นเขาไปทางทิศตะวันออก จนมาบรรจบกับทางเดินเข้า สภาพเส้นทางบางช่วงเป็นทางเดินลาดสันเขา บางช่วงเป็นทางเดินขึ้นและลงเขา แต่เป็นระยะสั้นๆ ภายในเส้นทางมีป้ายสื่อความหมาย ป้ายผังบริเวณ สะพานข้ามห้วย และทางเดินที่ชัดเจน ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวสามารถลงทะเบียนที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวใกล้กับจุดเริ่มต้นเดินเท้า ต้องมีมัคคุเทศท้องถิ่นชาวไทยภูเขานำทาง คิดค่าใช้จ่าย 200 บาทต่อกลุ่ม (นักท่องเที่ยวไม่เกิน 12 คน)

กิ่วแม่ปาน

ออกเดินทาง

บรรยากาศที่จะได้สัมผัสในช่วงแรกคือ พรรณไม้ใหญ่ในป่าดิบเขาระดับสูง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว บริเวณนี้คือ สถานที่ตั้งสถานีธรรมชาติ “ป่าเมฆ” หรือบางคนเรียกว่า “ป่าใส่เสื้อ” เพราะตามลำต้นของต้นไม้จะถูกห่อหุ้มด้วยบรรดามอส เฟิร์น ไลเคน และฝอยลม อิงแอบอยู่ตามกิ่งก้านและลำต้น ภาพของป่าที่เห็นในขณะนี้เปรียบเสมือนย้อนกลับไปยังยุคโบราณกาล ป่าดิบเขาระดับสูงแห่งนี้ สูงกว่า 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในพื้นที่สูงสภาพอากาศจะชื้นตลอดปี เรือนยอดที่หนาแน่นของไม้ใหญ่จะกางกั้นไม่ให้แสงแดดส่องถึงพื้นล่าง พืชเล็กๆ จึงได้อาศัยความชุ่มชื้นจากเมฆหมอกที่ปกคลุม กลั่นตัวเป็นหยดน้ำมาหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต โดยเฉพาะฝอยลมซึ่งเติบโตได้ดีในเฉพาะที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ จึงเป็นดัชนีชื้วัดคุณภาพอากาศของที่นี่

เดินเรื่อยมาจนถึงสถานีธรรมชาติ “ป่าต้นน้ำ กำเนิดสายธาร” จะพบลำน้ำใสสะอาด หนึ่งในต้นกำเนิดลำน้ำปิงที่หล่อเลี้ยงผู้คนเบื้องล่าง จากนั้นเส้นทางจะเริ่มไต่ระดับความสูงชันขึ้นไปเรื่อยๆ ช่วงนี้มัคคุเทศก์ท้องถิ่นจะแนะนำให้เดินช้าลง ไม่ควรรีบเร่ง เพราะสภาพพื้นที่ยิ่งสูง ออกซิเจนในอากาศจะยิ่งน้อยลง อาจเกิดอาการเหนื่อยหอบได้ง่าย

กิ่วแม่ปาน

ตามเส้นทางนักท่องเที่ยวจะได้พบเห็นลูกไม้เปลือกแข็งตกอยู่ตามพื้นดิน ซึ่งเป็นผลของ “ไม้ก่อ” ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นในกลุ่มต้นโอ๊ก พบมากทางภาคเหนือ ปัจจุบันมีไม้ก่อในประเทศไทยราว 60 ชนิดใน 4 สกุลหลัก ได้แก่ ก่อหนาม ก่อพวง ก่อตลับหรือก่อหมวก และก่อสามเหลี่ยม ชาวบ้านนิยมนำไม้ก่อมาเพาะเห็ด ส่วนลูกไม้ก่อสามารถรับประทานได้แต่ไม่นิยมในวงกว้าง โดยลำต้นที่คดและโปร่งสูงตั้งแต่ 10-25 เมตร ทำให้ไม้ก่อเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในเส้นทางนี้

เมื่อพ้นเขตป่าดิบเขาจะพบกับสังคมพืซที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับเส้นทางที่เดินผ่านมา บริเวณ “สถานีธรรมชาติทุ่งหญ้าเมืองหนาว” เป็นทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์ปกคลุมตลอดแนวสันเขา ทุ่งหญ้าแบบนี้จะพบเฉพาะในเขตภูเขาสูงที่มีความแปรปรวนของสภาพอากาศอยู่ตลอดเวลา เพราะไม้ใหญ่ของป่าดิบเขาไม่สามารถทนต่อความรุนแรงของกระแสลมได้ และในช่วงปลายฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว เป็นเวลาที่ “ดอกมะแหลบ” สีขาวจะบานสะพรั่งตัดกับทุ่งหญ้าสีเขียว ถือเป็นของกำนัลชั้นเยี่ยมจากธรรมชาติ

ขณะที่ช่วงกลางฤดูหนาว ทุ่งหญ้าผืนเดียวกันนี้ จะแปรเปลี่ยนเป็นสีทองอร่าม ตามซอกมุมของพื้นที่ ล้วนถูกครอบครองด้วยกูดเกี๊ยะ หนาดขาว ซึ่งเป็นพรรณไม้แถบหิมาลัย เพราะผืนป่าแห่งนี้คือปลายทางของเทือกเขาหิมาลัย ที่มีต้นกำเนิดอันยาวไกลไล่มาตั้งแต่ประเทศเนปาล ภูฏาน ทิเบต อินเดีย และพม่า มาสิ้นสุดที่ยอดดอยอินทนนท์

ณ จุดชมทิวทัศน์และสถานีกวางผาในบ้านป่าหิน ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่นักเดินทางต่างแสวงหาโอกาสที่จะได้พบกับ “กวางผา” 1 ใน 15 สัตว์ป่าสงวนที่ใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากในอดีตชาวไทยภูเขาเคยมีความเชื่อว่า เลือดของกวางผาสามารถนำมาผสมน้ำรักษาโรคกระดูกได้

กิ่วแม่ปาน

ถัดจากนั้นไม่ไกลนักจะถึง “สถานีธรรมชาติผาแง่มน้อย” หินแกรนิตสองแท่งซึ่งเกิดจากหินที่หลอมเหลวใต้พื้นโลกแล้วดันตัวขึ้นมาบนผิวโลก เกิดเป็นภูเขาเมื่อ 200 ล้านปีที่ผ่านมา จากนั้นส่วนประกอบของหินเฉพาะส่วนที่อ่อน ถูกกัดกร่อนจนสลายตัวเหลือเพียงส่วนที่เห็น หินทั้งสองแท่งนี้ แท้จริงแล้วเคยเป็นหินก้อนเดียวกันกับสันเขา เส้นทางในช่วงนี้เป็นสันเขาแคบและไหล่ทางที่ลาดชันลง พรรณไม้ตามแนวผาส่วนใหญ่เป็นไม้เมืองหนาวที่แพร่กระจายมาจากเทือกเขาหิมาลัยและจีนตอนใต้ โดยเฉพาะต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของดอยอินทนนท์ คือต้น “กุหลาบพันปี” ขึ้นอยู่ทั่วไปบริเวณไหล่ผาด้านทิศตะวันตก กุหลาบพันปีชอบดินสภาพเป็นกรดและตื้น ลำต้นและกึ่งก้านคดงอ เพราะแรงลม จะออกดอกสีแดงสดในช่วงกลางฤดูหนาวตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป

กิ่วแม่ปาน

นอกจากนี้ ยังพบพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจตระกูลเดียวกับกุหลาบพันปีนั้นคือ “ช้ามะยมดอย” หรือที่มักเรียกกันว่า “บลูเบอรี่ดอย” เป็นไม้พุ่มสูงไม่เกิน 2 เมตร มักขึ้นตามสันเขา ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม จะออกผลเล็กๆ สีม่วงเต็มต้น คล้ายลูกบลูเบอรี่ เป็นอาหารชั้นยอดสำหรับนก

หลังจากสิ้นสุดทางเดินตามแนวผา เส้นทางจะวกกลับเข้าป่าดิบเขาเพื่อไปยังจุดเริ่มต้นอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นอันสิ้นสุดการเดินทาง สังคมพืชรอบบริเวณนี้ จะพบต้นไม้เพียง 2 ระดับ ได้แก่ ไม้พื้นล่างที่ปกคลุมดิน และไม้ใหญ่ที่มีเรือนยอดชั้นบน พืชที่พบมากคือ “ต้นขาไก่” ลักษณะลำต้นแตกเป็นข้อคล้ายขาไก่ และอาจพบเห็ดหลายชนิดขึ้นอยู่ตามขอนไม้

ระหว่างเดินในเส้นทาง ยังมีโอกาสพบเห็นสัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะนกประจำถิ่นและนกที่อพยพมาในช่วงฤดูหนาว รวมแล้วมากกว่า 380 ชนิด โดยเฉพาะ “นกกินปลีหางเขียว” ชนิดพันธุ์ย่อย angkanensis ซึ่งเป็นนกประจำถิ่น ที่พบเฉพาะที่ยอดดอยอินทนนท์เท่านั้น เป็นนกที่มีสีสันสวยงาม ตัวผู้มีหัวสีเชียวเข้มเป็นมัน บริเวณหน้าอกมีสีเหลืองไล่ไปจนเป็นสีแดงเข้ม และยังเป็นถิ่นที่อยู่ของนกศิวะหางสีน้ำตาล นกติ๊ดแก้มเหลืองและนกกะรางหัวแดง ที่บินมาอวดโฉมเย้ายวนใจนักดูนกเป็นระยะ

กิ่วแม่ปานเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ทุกคนสามารถใช้เวลามาเยี่ยมชมได้อย่างสบายๆ สัมผัสความงดงามของป่าเมฆ ความมหัศจรรย์ของสรรพชีวิตในธรรมชาติ และระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ซึ่งหาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน

กิ่วแม่ปาน

วันวาน กวางผา และกุหลาบพันปี

เมื่อ 30 ปีก่อน พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ยังเต็มไปด้วย “กวางผา” แต่ลดจำนวนลงเรื่อยๆ ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวไทยภูเขาบางเผ่าว่า กวางผาเป็นสัตว์ที่มีกระดูกแข็งแกร่ง แม้ตกจากหน้าผาก็ยังมีชีวิตรอด เพียงแค่ใช้ลิ้นเลียตามลำตัว แผลจะหายทันที ทำให้มันถูกล่าเพื่อนำเลือดมาผสมน้ำรักษาโรค หรือตัดหัวมาแช่ทำน้ำมันมวย สุดท้ายสัตว์ชนิดนี้ก็แทบเหลือเพียงตำนาน

ช่วงปี 2541 มีผู้พบเห็นกวางผาบริเวณกิ่วแม่ปานบ่อยครั้ง ทางอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์จึงร่วมมือกับชาวบ้าน จัดทำโครงการศึกษาและอนุรักษ์กวางผา ไม่ให้สูญพันธุ์ ปัจจุบันยังพบกวางผาหากินอยู่ในพื้นที่อุทยานฯ ประมาณ 30 ตัว

ขณะเดียวกัน มีเรื่องเล่าของชาวเผ่าม้งเกี่ยวกับต้น “กุหลาบพันปี” ว่า คํ่าคืนแห่งเหมันต์ฤดู เมื่อย่างเข้าสู่วันปีใหม่ เป็นธรรมเนียมที่ชาวม้งจากบ้านขุนกลาง จะเดินจูงมือคู่รักขึ้นสู่ยอดดอย เพื่อชมกุหลาบพันปีสีแดงที่บานสะพรั่งบนเทือกเขาที่เย็นยะเยือก เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งความรัก จนเส้นทางสายนี้ได้รับการขนานนามว่า “เส้นทางแห่งความรัก”

กิ่วแม่ปาน

ฤดูกาลที่เหมาะสม

เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปศึกษาธรรมชาติได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 31 พฤษภาคม ของทุกปี ตั้งแต่เวลา 07.00-16.00 น. ฤดูหนาวเป็นช่วงที่มีผู้มาเยี่ยมเยือนมากที่สุด เพราะเป็นช่วงดอกไม้ป่าที่หาชมได้ยากออกดอกผลิบานท่ามกลางไอหมอกปกคลุมทั่วขุนเขา โดยทางอุทยานฯ จะปิดเส้นทางนี้ในเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม เพื่อร่วมกับอาสาสมัครในท้องถิ่นดูแลรักษาสภาพป่าให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

ที่ตั้งและการติดต่อ

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 119 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 50160

เริ่มต้นการเดินทางสู่ กิ่วแม่ปาน

เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ตั้งอยู่ที่หลักกิโลเมตรที่ 42 ของถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 100 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง

ระหว่างทางจะผ่านที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31 จากนั้น เมื่อถึงพระธาตุนภเมทนีดล และพระธาตุนภพลภูมิสิริ ห่างออกไปอีกประมาณ 500 เมตร จะพบจดเริ่มต้นของเส้นทาง

สอบถาม ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โทรศัพท์ 053-286-728-9 โทรสาร 053-286-727

มัคคุเทศก์ท้องถิ่น 081-952-4760 หรือ 093-131-3850

  • www.doiinthanon.com
  • www.dnp.go.th
  • www.trekkingthai.com
  • www.inthanon.sadoodta.com
  • www.guide-thailand.com
ส่งไลน์