เดินป่าเมืองไทย ไม่ไปไม่รู้

ส่งไลน์

กิจกรรมเดินป่าในประเทศไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติ รักการผจญภัยเพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้จากจำนวนผู้ประกอบธุรกิจเดินป่าในประเทศไทยที่มีไม่ตํ่ากว่า 200 ราย หรือการเติบโตของสื่อออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเดินป่าและการจัดนำเที่ยวเดินป่าในทุกภูมิภาคของประเทศ

ปัจจัยหลักที่ทำให้กิจกรรมเดินป่าในประเทศไทยได้รับความนิยมนั่นเป็นเพราะมีแหล่งท่องเที่ยวเพื่อประกอบกิจกรรมที่น่าสนใจ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร ผืนป่าในเมืองไทยจึงเป็นป่าเขตร้อน ที่รวมความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ เป็นป่าเขตร้อนที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีพืชพันธุ์และสัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์ หลายชนิดเป็นพืชและสัตว์เฉพาะถิ่นที่พบได้เพียงไม่กี่แห่ง หรือแห่งเดียวในโลก ในขณะที่สภาพภูมิทัศน์ที่สวยงาม สภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็นตลอดปีในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบนยอดดอย ความท้าทาย ความรู้สึกได้ผจญภัยในผืนป่าดิบที่แตกต่างจากป่าโปร่งในป่าของประเทศแถบตะวันตก ประสบการณ์ที่ได้หลังประกอบกิจกรรมเดินป่าในเมืองไทยจึงเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างอย่างมีสีสัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเสมือนแม่เหล็กดึงดูดนักเดินป่าจากทั่วทุกสารทิศให้มุ่งหน้ามาเดินป่าในประเทศไทย

เดินป่าเมืองไทย

แหล่งท่องเที่ยวเดินป่าในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่อนุรักษ์เหล่านี้ มีวัตถุประสงค์หลักในการจัดการท่องเที่ยวเดินป่าเพื่อศักษาเรียนรู้ธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายให้การท่องเที่ยวนำไปสู่แนวคิดในการช่วยอนุรักษ์สภาพแวดล้อมตามมา ในขณะเดียวกันพื้นที่ก็ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย มีหน่วยงานราชการเป็นผู้บริหารจัดการดูแล ดังนั้นการเข้าไปประกอบกิจกรรมเดินป่าในพื้นที่เหล่านี้จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด และเพื่อให้การท่องเที่ยวเดินป่าในแต่ละครั้งได้รับประสบการณ์ที่ดี และไม่ทำลายทรัพยากรการท่องเที่ยว เพื่อให้การเดินป่าแต่ละครั้งยังคงความบริสุทธิ์ของผืนป่าเอาไว้ให้นักเดินทางคนต่อไปได้ ซึมซับความงดงาม และความประทับใจเช่นเดียวกันนี้

การรู้จักเตรียมตัวและเตรียมพร้อมก่อนออกเดินป่า รวมถึงวิธีการเดินป่าอย่างมืออาชีพ จึงเป็นสิ่งจำเป็นพอๆ กับการเตรียมร่างกายให้แข็งแรงพร้อมรับในทุกสภาพเส้นทาง ตราบใดที่ “อ่านหนังสือร้อยเล่ม ไม่เท่าเดินทางร้อยลี้” การท่องเที่ยวเดินป่ายังคงเป็นหนทางหนึ่งในการแสวงหาคำตอบให้กับชีวิต เพราะหนึ่งยอดเขาที่พิชิตได้ อาจไม่สำคัญเท่ากับการได้พิสูจน์กายและใจตนเอง

สำหรับนักเดินป่า ไม่ว่าจะเป็นนักเดินป่ามือใหม่หรือมืออาชีพ ทุกครั้งที่ตัดสินใจไปเดินป่า ต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมกับสิ่งที่จะต้องเจอ ทั้งสภาพเส้นทางและอากาศ รวมไปถึงเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้น นั่นหมายถึง ต้องศึกษาเพื่อเตรียมทุกอย่างให้รอบคอบ และพร้อมที่สุดก่อนออกเดินทาง สิ่งสำคัญที่สุดอีกสิ่งหนึ่งของการเดินป่าที่นักเดินป่าทุกคนต้องใส่ใจ นั่นคือ สภาพร่างกาย เพราะการเดินป่าต้องอาศัยกำลังกายในการเดินและแบกสัมภาระส่วนตัว ทางที่ดีที่สุดคือ ควรเลือกเส้นทางเดินป่าที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย หรือต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม ก่อนออกเดินป่าในเส้นทางที่เลือกไว้

เดินป่าเมืองไทย

รู้…ก่อนเดินทาง

อุทยานแห่งชาติ / เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แม้ว่าจะเป็นพื้นที่อนุรักษ์เหมือนกัน แต่วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งและรายละเอียดของการเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ จะแตกต่างจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาตินั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว เพื่อการศึกษาเรียนรู้ เป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักในการประกาศจัดตั้งและจัดการพื้นที่ ส่วนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว แต่เป็นการประกาศจัดตั้งเพื่ออนุรักษ์ให้เป็นบ้านของพันธุ์พืชและสัตว์ป่าเป็นสำคัญ

การเข้าไปท่องเที่ยวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจึงมีกฎระเบียบ ข้อห้าม ข้อปฏิบัติที่พึงระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น ต้องขออนุญาต ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า และอาจไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับที่สะดวกสบายนัก แต่การจะเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งสองประเภทต้องคำนึงถึงความปลอดภัย การดำรงอยู่ของผืนป่าและสัตว์ป่า ผู้เป็นเจ้าของบ้านที่แท้จริงเป็นหลักใหญ่เสมอ

เดินป่าเมืองไทย

เตรียมร่างกายก่อนออกเดิน

การเตรียมร่างกายก่อนไปเดินป่าเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ แต่หลายคนมักนึกไม่ถึง การออกไปเดินป่าโดยไม่เตรียมร่างกายให้พร้อม อาจนำมาซึ่งประสบการณ์เดินป่าที่ไม่น่าประทับใจ เช่น เป็นตะคริว เดินจนปวดน่อง ปวดขา จนกลายเป็นเข็ด และไม่ไปเดินป่าอีกเลย

ก่อนทริปเดินป่าทุกครั้ง จึงควรออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อบริหารกล้ามเนื้อ หัวใจ และร่างกายทุกส่วนได้คุ้นเคยก่อนใช้งานหนัก โดยอาจใช้การวิ่ง ฟิตเนส หรือโยคะ และถ้าออกกำลังเพิ่มความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน เช่น น่องและขาโดยตรง เช่น ท่ายืน นั่งยอง (sit-up) โดยเริ่มฝึกก่อนออกทริปอย่างน้อย 7 วัน จะมีกำลังขาเพียงพอสำหรับการเดินป่าได้ทุกทริป

เดินป่าเมืองไทย

เส้นทางเดินป่า 5 ระดับ

ในบทความนี้ ได้มีการจัดแบ่งเส้นทางเดินป่าออกเป็นระดับตามความยากง่ายของเส้นทาง เพื่อให้ผู้ที่ต้องการประกอบกิจกรรมเดินป่าได้เลือกตามความสนใจ และเข้าใจถึงลักษณะของเส้นทางในเบื้องต้นก่อนออกเดินทาง ทั้งนี้ การจัดแบ่งระดับความยากง่ายของเส้นทางได้พิจารณาจากหลายปัจจัย ได้แก่

วัตถุประสงค์ของเส้นทาง เช่น เป็นเส้นทางระยะสั้นสำหรับศึกษาธรรมชาติ หรือเป็นเส้นทางเพื่อเดินป่าแบบระยะไกล/ใกล้

ระยะเวลาที่ใช้ในการประกอบกิจกรรม เช่น ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง หรือทั้งวันทั้งคืนในเส้นทางนั้น

ทักษะที่จำเป็น ทักษะที่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินป่าในเส้นทางนั้นจำเป็นหรือควรจะต้องมี เช่น การพักค้างในป่า การเดินขึ้นเขาสูง การเตรียมสัมภาระและยังชีพในป่า

ระยะทางและสภาพเส้นทาง เช่น ระยะทางสั้นไม่เกิน 5 กิโลเมตร สภาพเส้นทางไม่ลาดชัน เดินสบาย หรือระยะทางค่อนข้างไกลถึงไกลมาก อาจเกิน 10 กิโลเมตร สภาพเส้นทางมีทั้งทางเรียบและลาดขัน ต้องเดินขึ้นและลงเขา เป็นต้น

สิ่งอำนวยความสะดวกในเส้นทาง เช่น เส้นทางที่มีป้ายบอกทาง ป้ายสื่อความหมายธรรมซาติ ป้ายเตือน มีเจ้าหน้าที่นำทาง เป็นต้น

จากปัจจัยที่กำหนด จึงได้จัดแบ่งเส้นทางเดินป่าออกเป็น 5 ระดับ

ระดับ 1 Nature trail เส้นทางสำหรับเรียนรู้เรื่องราวของธรรมชาติเป็นหลัก ระยะทางไม่ไกลเกิน 6 กิโลเมตร ใช้เวลาเดิน 3-4 ชั่วโมง ไม่มีการพักค้างในเส้นทาง เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย ภายในเส้นทางมีสิ่งอำนวยความสะดวกหลากหลาย เช่น ทางเดินลาดชัน ป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ ป้ายบอกทาง ป้ายเตือน สะพาน ราวกันตก เป็นต้น อาจจะมีหรือไม่มีเจ้าหน้าที่นำทาง นักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องมีทักษะในการเดินป่าก็ได้

ระดับ 2 Hiking or Beginner Trekking เส้นทางเดินป่าสำหรับมือใหม่ ผู้เริ่มต้นเดินป่า สภาพเส้นทางมีความลาดชันบ้างแต่ไม่มากนัก ระยะทางรวมในการเดินไม่เกิน 15 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินติดต่อกันไม่เกิน 6 ชั่วโมง อาจมีการพักค้างในป่าแต่ไม่เกิน 1 คืน มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามความจำเป็น เช่น ป้ายบอกทาง ควรมีเจ้าหน้าที่นำทาง นักท่องเที่ยวต้องมีทักษะเบื้องต้นในการเดินป่า เช่น การเดินขึ้นลงที่สูง มีการเตรียมสภาพร่างกายค่อนข้างพร้อม

ระดับ 3 Advanced Trekking เส้นทางเดินป่าที่เน้นการเดินไปยังจุดหมาย เช่น ยอดเขา สภาพเส้นทางมีความลาดชันค่อนข้างมาก อาจจะมากกว่าครึ่งหนึ่งของเส้นทาง ต้องพักค้างแรม และยังชีพในป่าอย่างน้อย 2-3 วัน ต้องเดินติดต่อกันอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ในเส้นทาง ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง นักท่องเที่ยวต้องมีทักษะและประสบการณ์ในการเดินป่า พักค้างและยังชีพในป่ามาในระดับหนึ่ง

ระดับ 4 Difficult Trekking เส้นทางเดินป่าระดับยากหรือการเดินป่าแบบหนักหน่วง สภาพเส้นทางมีความลาดชันสูง ระยะทางไกล ต้องพักแรมและยังชีพในป่าอย่างน้อย 3-4 วัน เดินติดต่อกันอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน ภายในเส้นทางไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง นักท่องเที่ยวต้องมีทักษะและประสบการณ์ในการเดินป่าและยังชีพในป่ามาค่อนข้างมาก

ระดับ 5 Extreme Trekking เส้นทางเดินป่าระยะไกลที่มีสภาพเส้นทางหนักและโหด มีความยากลำบากทั้งการเดินและการดำรงชีพในป่า เส้นทางเป็นลักษณะกึ่งสำรวจผจญภัย ไม่กำหนดเป้าหมายในการเดินแต่ละวันไว้แน่นอน แต่มีเป้าหมายในการเดินในเส้นทางไว้ชัดเจน พักแรมและยังชีพในป่าตั้งแต่ 4 วันขึ้นไป เดินติดต่อกันอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง นักท่องเที่ยวต้องมีทักษะและประสบการณ์ในการเดินป่า และการพักแรมในป่าอย่างดี

เดินป่าเมืองไทย

ไฮกิ้ง / เทรคกิ้ง สองคำที่แตกต่าง

คำว่า ไฮกิ้ง (hiking) มีความหมายแตกต่างจาก เทรคกิ้ง (trekking) นั่นก็คือ ไฮกิ้ง หมายถึง การเดินป่าแบบเช้าไปเย็นกลับ ไม่มีการพักค้างในเส้นทาง ส่วนมากเป็นการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ในบางประเทศโดยเฉพาะประเทศตะวันตก สภาพภูมิประเทศและอากาศเอื้อต่อการเดินไฮกิ้งเป็นระยะทางไกลๆ บางแห่งสามารถเดินได้มากถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน

ส่วนคำว่าเทรคกิ้ง นั้นหมายถึง การเดินป่าที่ต้องใช้เวลานาน สภาพเส้นทางมีความลาดชันและมีระยะไกล ทำให้ต้องมีการพักค้างคืนในป่า ประเทศที่มีชื่อเสียงในเรื่องเส้นทางเดินป่าแบบเทรคกิ้ง คือประเทศเนปาล โดยใช้คำว่า Trekking in Nepal เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักเดินป่าทั่วโลก

เดินป่าเมืองไทย

เส้นทางเดินป่าระดับ 1 Nature trail

  • เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผากล้วยไม้ น้ำตกเหวสุวัต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
  • เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
  • เส้นทางศึกษาธรรมชาติลานสุริยัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย
  • เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกสิบเอ็ดชั้น อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เส้นทางเดินป่าระดับ 2 Hiking or Beginner Trekking

  • เส้นทางเดินป่าภูกระดึง อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย
  • เส้นทางเดินป่ายอดผ้าห่มปก อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่
  • เส้นทางเดินป่าดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
  • เส้นทางเดินป่าเขาช้างเผือก อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

เส้นทางเดินป่าระดับ 3 Advanced Trekking

  • เส้นทางเดินป่าดอยหลวงเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
  • เส้นทางเดินป่าภูแว อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน
  • เส้นทางเดินป่าภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จังหวัดอุตรดิตถ์
  • เส้นทางเดินป่าเขาสอยดาวใต้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี

เส้นทางเดินป่าระดับ 4 Difficult Trekking

  • เส้นทางเดินป่าน้ำตกปิ๊ตุ๊โกร ทีลอซู จังหวัดตาก
  • เส้นทางเดินป่าภูเมี่ยง อุทยานแห่งชาติคลองตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
  • เส้นทางเดินป่าดอยลังกาหลวง อุทยานแห่งชาติขุนแจ จังหวัดเชียงราย
  • เส้นทางเดินป่าเขาเจ็ดยอด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุง

เส้นทางเดินป่าระดับ 5 Extreme Trekking

  • เส้นทางเดินป่าโมโกจู อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร
  • เส้นทางเดินป่าน้ำตกเหมืองโชน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จังหวัดระนอง
  • เส้นทางเดินป่ายอดฝามี อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • เส้นทางเดินป่าเขาหลวง อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ส่งไลน์