โขงเจียม ภูผาแก่งหินงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย

Google Plus
Line

< เรื่องโดย…พูลทรัพย์ ทรารมย์ >

พระอาทิตย์ขึ้น โขงเจียม อุบลราชธานี

ภาพโดย Nimitr Kitsompoch

โขงเจียม เป็นอำเภอที่อยู่ทางทิศตะวันออกสุดของประเทศใทย เห็นตะวันก่อนใครในสยามในเขตจังหวัดอุบลราชธานี อำเภอโขงเจียมมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและร่องรอย ภูมิทัศน์วัฒนธรรมมากมาย มีพื้นที่ทางน้ำติด กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวโดยมีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดน

แม่นํ้าสองสี โขงเจียม อุบลราชธานี

ภาพโดย พูลทรัพย์ ทรารมย์

อำเภอโขงเจียม มีความสวยงามทางนํ้าที่แปลกตาแก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนคือ เป็นจุดบรรจบของแม่นํ้าโขงและแม่นํ้ามูลไหลมารวมกันทำให้เกิดเป็นแม่นํ้าสองสี “โขงสีปูน มูลสีคราม” นอกจากนี้นักท่องเที่ยวที่มาเยือน สามารถเลือกพักได้ทั้ง ริมนํ้าโขงและริมนํ้ามูลซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของที่นี่ มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่มีความสวยงามอยู่หลากหลาย เช่น ผาแต้มที่เป็นจุดเห็นพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในสยาม เสาเฉลียง นํ้าตกสร้อยสวรรค์ นํ้าตกแสงจันทร์หรือนํ้าตกลงรู เถาวัลย์ยักษ์ ป่าดงนาทาม และยังมีสะพานแขวนคนเดินข้ามที่ยาวที่สุด คือ สะพานข้ามแม่นํ้ามูล ภายในอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ โครงสร้างเป็นเหล็ก โยง ด้วยลวดสลิง พื้นปูด้วยไม้กระดาน มีความกว้าง 2 เมตร ยาว 295 เมตร

ลิงก์ผู้สนับสนุน
สะพานแขวน โขงเจียม อุบลราชธานี

ภาพโดย พูลทรัพย์ ทรารมย์

อีกหนึ่งกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาชมแม่นํ้าสองสี คือการล่องเรือสัมผัสวิถีชีวิตของชาวประมงกลางลำนํ้าโขงและชมแม่นํ้าสองสี โดยคิดค่าบริการเที่ยวละ 350บาท ต่อจำนวนนักท่องเที่ยว 10 คนทุกๆเช้า ตั้งแต่ตี 4 ไปจนถึงสายๆ ชาวบ้านที่จับปลาได้จะนำปลาขึ้นมาวางขายในตลาดกันแบบสดๆ ปลาที่จับได้ส่วนใหญ่จะเป็นปลาบึก ปลาเทโพ เป็นต้น นักท่องเที่ยวที่ชอบทานเมนูปลาไม่ควรพลาด นอกจากปลาสดแล้วยังมีความคึกคักของตลาดเช้าที่จำหน่ายสินค้าในชุมชนอื่นๆ อีกมากมายที่นำมาวางขาย ทำให้บรรยากาศเช้าๆ ที่ตลาดแห่งนี้เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของทั้งผู้คนฺที่มาจับจ่ายและพ่อค้าแม่ค้าอย่างเป็นกันเอง จิบกาแฟยามเข้าชิมปาท่องโก๋ที่ทำสดๆ ชมบรรยากาศริมแมนํ้าและสายหมอกที่กอดขุนเขา ช่างเป็นบรรยากาศที่น่าไปสัมผัสยิ่งนัก

จิบกาแฟเสร็จนักท่องเที่ยวสามารถมุ่งหน้าต่อไปที่หมู่บ้านเวินบึก ซึ่งห่างจากตัวเมืองโขงเจียมเพียงแค่ 9 กม. บ้านเวินบึกตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พศ 2457 โดยเป็นชาวบรูอพยพจากแขวงเมืองปากเซ ล่องเรือ ข้ามฟากแม่นํ้าโขงมาตั้งถิ่นฐาน ต่อมาในปี พศ 2470 ทางราซการจึงจัดตั้งหมู่บ้านแห่งนี้โดยใช้ชื่อว่า “บ้าน เวินปีก” ซึ่งมีชื่อตามคุงนํ้าที่คดเคี้ยวเป็นเวินนํ้าไหลและมีปลาปีกชุกชุม

ชาวบ้านทอดแหหาปลา โขงเจียม อุบลราชธานี

ภาพโดย พูลทรัพย์ ทรารมย์

ชาวบรูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูล มอญ-เขมร ซึ่งอพยพมาจากประเทศลาว ประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ที่บ้านเวินบึกจึงเป็นชาวบรู อาชีพของประชากรส่วนใหญ่ คือยึดอาชีพจักรสานเครื่องใช้ในครัวเรือน ทำประมง เป็นต้น
ชาวบ้านที่อยู่ในวัยแรงงานบางกลุ่มก็อพยพไปทำงานต่างถิ่น มีการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์เด็กที่เกิดมาเป็นลูกผสมคือ ผสมระหว่างคนบรูกับคนลาว คนบรูกับคนไทยบ้าง พ่อแม่ไม่ได้พาลูกพูดภาษาบรู ทำให้เด็กส่วนใหญ่ในชุมขนจึงพูดภาษาบรูไม่ใด้

ขากลับเข้าตัวจังหวัดระหว่างทางแวะวัดถํ้าคูหาสวรรค์ นมัสการสรีระหลวงปู่คำคนิง จุลมณี บรรดาลูกศิษย์ได้เก็บร่างของท่านไว่ในโลงแก้วเพื่อบูชา นอกจากนี้บริเวณวัดยังมีจุดชมวิวสามารถมองเห็นทัศนียภาพของตัวเมืองโขงเจียมและแม่นํ้าโขงทอดยาวตลอดสองฝั่งไทย-ลาว

ชาวบ้านพายเรือหาปลา โขงเจียม อุบลราชธานี

ภาพโดย พูลทรัพย์ ทรารมย์

เดินทางต่ออีกราว 3 กม. สามารถแวะชมความมหัศจรรย์ของวัดถํ้าเหวสินธุ์ชัย ซึ่งภายในบริเวณวัดมีความสวยงามแปลกตา คือมีนํ้าตกไหลผ่านเพิงถํ้าตกลงไปยังโขดหินด้านล่างเกิดเป็นลำธารเส้นเล็กๆ ที่มีความสวยงามอยู่เบื้องล่างเต็มไปด้วยต้นไม้ที่เขียวและอุดมสมบูรณ์ ทำให้เป็นวัดที่มีความสวยงามแปลกตาแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลฯ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีวิหารพระแก้วมรกตและพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ที่มองเห็นได้จากระยะไกล ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าที่ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้และธรรมชาติที่สวยงาม

ระหว่างทางกลับหากยังไม่เหนื่อยกับการเดินทาง ยังสามารถแวะเขื่อนปากมูล เขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สร้างกั้นแม่นํ้ามูลที่บ้านหัวเห่ว อำเภอโขงเจียม มีความสูง 17 เมตร ยาว 300 เมตร สันเขื่อนกว้าง 17 เมตร ใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรและผลิตกระแสไฟฟ้ารวมถึงใช้เป็นที่พักผ่อนนั่งชมบรรยากาศวิวทิวทัศน์ของภูเขาและสายนํ้ามูลที่ไหลทอดยาวสู่แม่นํ้าโขง

วิถีริมน้ำ โขงเจียม อุบลราชธานี

ภาพโดย พูลทรัพย์ ทรารมย์

ถึงแม้โขงเจียมจะเป็นอำเภอเล็กๆ แต่ก็มีมนต์เสน่ห์ ของสายนํ้าทั้งสองเส้นที่มีความสวยงาม ภูเขาลำธาร นํ้าตก วิถีชีวิตผู้คนที่เป็นมิตรแก่ผู้มาเยือน ที่นี่ยังรอนักเดินทางหลายคนมาสัมผัสด้วยตัวเอง หากใครได้ลองไปสัมผัสรับรองได้เลยว่าคุณจะหลงรักอำเภอนี้ และอยากกลับมาเยือนที่นื่อีกครั้ง…

วีดีโอเกี่ยวกับ…โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

แผนที่การเดินทางสู่…โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

การเดินทาง: ไปอำเภอโขงเจียมใช้ถนน หมายเลข 217 อุบลฯ-พิบูลมังสาหาร ระยะทาง 45 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายไป ทาง อำเภอโขงเจียม ใช้ถนนหมายเลข 2222 มุ่งหน้าสู่อำเภอโขงเจียม ระยะทาง 35 กม. รวม ระยะทาง 80 กม.

ลิงก์ผู้สนับสนุน
Google Plus
Line